Article

10.04.2024

BOQ คืออะไร ทำไมต้องใช้แนบสัญญา

Byที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

ในการก่อสร้างโครงการใด ๆ ก็ตาม เรามักจะคุ้นหูหรือได้ยินฝ่ายที่ร่วมดำเนินโครงการพูดศัพท์เทคนิคคำนึงอยู่เสมอ คือคำว่า BOQ แล้ว BOQ ที่ว่านี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ไม่มีได้ไหม เอ็มเคแอลจะสรุปให้ฟัง ดังนี้

 

BOQ งานก่อสร้าง ย่อมาจาก Bill of Quantities แปลอย่างเป็นทางการว่า บัญชีแสดงปริมาณงานและราคา (ตามแบบของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) แต่รูปแบบคำแปลนี้ยังมีแตกต่างกันไปอีก เช่น บัญชีรายละเอียดของราคา ซึ่ง BOQ งานก่อสร้างจะแสดงงานที่ต้องทำในโครงการออกเป็นหมวดหมู่ มีการระบุว่าจะใช้วัสดุอะไร ปริมาณเท่าไร ราคากี่บาท และค่าแรงในการทำงานเป็นเท่าใด

 

หมายเหตุ: ในวงการก่อสร้าง หากจะเรียกถึงเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เป็นทางการนั้น นิยมเรียกกันโดยย่อหรือสั้นๆ เช่น เรียกใบรับรองการก่อสร้างฯ ว่าใบ อ.5 ตามรหัสแบบฟอร์มที่เขียนไว้ที่มุมขวาบน ดังนั้น Bill of Quantities จึงเรียกทับศัพท์ว่า BOQ นั่นเอง

 

สำหรับขั้นตอนในการจัดทำ BOQ งานก่อสร้างนั้น โดยทั่วไปผู้สำรวจปริมาณและราคา (Quantity Surveyor: QS) จะเป็นผู้จัดทำ ซึ่งจะมีทั้ง QS ของฝ่ายเจ้าของโครงการและ QS ฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจัดทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

  • ฝ่ายเจ้าของโครงการ : จัดทำ BOQ เพื่อตรวจสอบต้นทุนค่าก่อสร้างว่าเป็นเท่าใด และอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงอาจใช้เป็นราคากลาง (Fair Price) ในการประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนใช้ประกอบการขอสินเชื่อกับธนาคารอีกด้วย
  • ฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง : จัดทำ BOQ เพื่อประโยชน์ในการเสนอราคาค่าก่อสร้างในการประกวดราคา

 

จะเห็นได้ว่า ในเมื่อ BOQ งานก่อสร้างมีการจัดทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าหากเปรียบกับหลักของ Demand & Supply ฝ่ายเจ้าของโครงการก็เปรียบได้กับฝั่ง Demand ส่วนผู้รับเหมาเปรียบได้กับฝั่ง Supply ดังนั้น ราคาค่าก่อสร้างจะสรุปตกลงกันเป็นเท่าใด ก็อยู่ที่ว่าจุดตัดของ Demand กับ Supply ตัดกันที่จุดราคาใดนั่นเอง

 

ตัวอย่างของ BOQ งานก่อสร้าง

ตัวอย่างของ BOQ งานก่อสร้าง

 

โดยในขั้นตอนการจัดทำ BOQ งานก่อสร้าง จะต้องนำแบบ (Drawings) รายการประกอบแบบ (Specifications) และขอบเขตของงาน (Scope of Works) มาทำการถอดแบบ คิดปริมาณวัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด รวมไปถึงสืบราคาตลาดจากผู้จำหน่ายวัสดุ/อุปกรณ์ในพื้นที่ ระบุค่าแรงต่อหน่วย บวกค่าดำเนินการและกำไร จนท้ายที่สุดได้ราคาค่าก่อสร้างทั้งหมดออกมา

 

ทั้งนี้ หากจะสรุปประโยชน์ของ BOQ ออกมาเป็นข้อ ๆ สามารถสรุปได้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้

 

  • ใช้ในการตรวจสอบต้นทุนค่าก่อสร้าง

ก่อนที่เจ้าของโครงการจะก่อสร้างโครงการ ย่อมต้องการทราบว่าต้นทุนค่าก่อสร้างตามรูปแบบที่ตนเองต้องการ อยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนของการออกแบบ ปกติแล้วเจ้าของโครงการควรแจ้งงบประมาณค่าก่อสร้างที่ตนเองมี ให้ผู้ออกแบบทราบตั้งแต่ต้น เพื่อที่ผู้ออกแบบจะทำการเลือกใช้วัสดุ/อุปกรณ์ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี โดยถ้าหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ มักจะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านสำรวจปริมาณและราคา ซึ่งถือเป็น QS ฝ่ายเจ้าของ ประเมินราคาค่าก่อสร้างในทุกขั้นของการออกแบบ และในขั้นสุดท้าย จะมีการจัดทำ BOQ โดยละเอียดเพื่อตรวจเช็กว่าราคาค่าก่อสร้างยังคงอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่

 

  • ใช้เป็นราคากลางในการประกวดราคา

BOQ ที่จัดทำขึ้นในขั้นแรก สามารถนำมาใช้เป็นราคากลางของโครงการได้ ซึ่งหมายถึง ราคาค่าก่อสร้างที่สมเหตุสมผลและสามารถนำไปก่อสร้างได้จริง เพื่อใช้ประกอบการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ว่ารายใดเสนอราคาเหมาะสมที่สุด รายใดเสนอราคาตกหล่น รายใดเสนอราคาในบางรายการสูงเกินไป

 

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้รับเหมาที่เราคัดเลือกเข้ามาร่วมประกวดราคา หรือเรียกว่าผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification: PQ) มาแล้วก็ตาม กล่าวคือ มั่นใจได้ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการก่อสร้างโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาค่าก่อสร้างตาม BOQ ที่เสนอมาจะถูกต้องเสมอไป ซึ่งถ้าหากเกิดกรณีผู้รับเหมาก่อสร้างคิด BOQ ผิดไปจากความเป็นจริง แล้วได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินงาน ก็อาจทำให้โครงการเกิดปัญหาการทุจริตในโครงการขึ้นได้

 

หมายเหตุ: ในขั้นตอนของการ PQ ปกติจะดำเนินการโดยที่ปรึกษางานก่อสร้าง ที่เจ้าของโครงการว่าจ้างมาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง

 

  • ใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองราคา

BOQ เจ้าของโครงการที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีประโยชน์ที่ใช้สำหรับเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างกับผู้รับเหมาแต่ละรายที่ผ่านการคัดเลือกหรือเข้ารอบด้วย เช่นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ BOQ ราคากลางแล้ว อาจพบว่าบางรายการอาจมีราคาสูงเกินไป หรือพบว่าบางรายการตกหล่นไป ดังนี้แล้ว ก็สามารถเจรจาปรับฐานกับผู้รับเหมารายนั้น ๆ หรือเจรจาเพื่อปรับลดราคาลงได้

 

  • ใช้เป็นฐานอ้างอิงในการชำระงวดงานค่าก่อสร้าง

ในโครงการที่มีการตกลงชำระค่าก่อสร้างแบบ Progress Payment ซึ่งหมายถึงการชำระตามความก้าวหน้าของงาน (โดยทั่วไปจะกำหนดให้ชำระเป็นรายเดือน) กล่าวคือ ทำได้แค่ใด ก็ชำระแค่นั้น ปกติแล้วจะตกลงกันระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาว่า ให้อ้างอิงราคาต่อหน่วยจาก BOQ ที่แนบสัญญา  ซึ่งทางที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือบริษัทรับควบคุมงานก่อสร้าง ก็จำเป็นต้องใช้ BOQ งานก่อสร้างที่แนบสัญญานี้ ในการตรวจสอบ เพื่อออกใบรับรองการชำระเงิน (Payment Certificate) ให้เจ้าของโครงการพิจารณาอนุมัติเช่นกัน

 

  • ใช้เป็นฐานในการอ้างอิงราคางานเพิ่มลด

ในการดำเนินโครงการก่อสร้าง เจ้าของโครงการมักจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างไม่มากก็น้อย และเมื่อมีการปรับแบบจากที่ตกลงกันไว้เดิม จึงทำให้เกิดมีงานเพิ่ม/ลดตามมา ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงมักมีการตกลงกันว่า ในการคิดราคางานเพิ่มลด ให้อ้างอิงราคาต่อหน่วยใน BOQ ที่แนบสัญญาจ้างนั่นเอง

 

  • ใช้ในการวางแผนค่าใช้จ่ายของโครงการ

นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว BOQ งานก่อสร้างยังสามารถนำมาประกอบการวางแผนการเงิน ทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการที่ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระค่าจ้างก่อสร้าง หรือฝ่ายผู้รับเหมาที่ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับจ่ายค่าวัสดุ/อุปกรณ์ ค่าแรงงานอีกด้วย อีกทั้งเมื่อ BOQ มีการแยกออกเป็นรายการ จึงสามารถนำมาใช้เป็น Checklist รายการที่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งฝ่ายผู้รับเหมาและฝ่ายเจ้าของโครงการที่ตัดวัสดุ/อุปกรณ์มาจัดซื้อเองด้วย

 

  • ใช้เป็นฐานในการอ้างอิงการจัดทำ VE (Value Engineering)

เนื่องจาก BOQ งานก่อสร้าง จะแสดงรายการงานออกเป็นหมวดหมู่ดังที่กล่าวแล้ว จึงสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ว่า งานใดหรือหมวดหมู่ใดมีสัดส่วนราคาเป็นเท่าไรต่อราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด ดังนั้น หากต้องการปรับลดราคาค่าก่อสร้างลง ควรจะปรับลดที่หมวดหมู่ใด ซึ่งกระบวนการปรับลด ก็อาจเป็นการปรับเปลี่ยนที่ฟังชั่นการใช้งาน (Function) หรือปรับที่ต้นทุนของปัจจัยการผลิต (Cost) หรือก็คือกระบวนการวิศวกรรมคุณค่าหรือเรียกสั้นๆ ว่าการทำ VE นั่นเอง

 

หมายเหตุ: ทั่วไปแล้ว การทำ VE สามารถทำได้ตลอดระยะเวลาของโครงการ แต่ควรเน้นหนักไปที่การทำระหว่างการออกแบบโครงการ เพราะหากทำหลังจากการออกแบบขั้นสุดท้ายแล้วเสร็จ แล้วมาทำการปรับเปลี่ยนแบบในภายหลัง จะทำให้องค์ประกอบของอาคารเกิดปัญหาการขาดความกลมกลืนสอดคล้อง บั่นทอนความสวยงาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของลูกค้า ส่งผลให้แม้จะลดค่าก่อสร้างลงได้ แต่รายได้ก็อาจลดตามไปด้วย

 

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า BOQ มีประโยชน์ในงานก่อสร้างค่อนข้างมาก แต่ในการจัดทำ BOQ นั้น ถือว่าเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ถ้าหากมีการคิดคำนวณตกหล่นหรือผิดไป ก็สามารถสร้างปัญหาให้โครงการได้มาก เช่น ถ้าหากผู้รับเหมาก่อสร้างคิด BOQ ตกหล่นในรายการที่สำคัญ และด้วยงานก่อสร้างที่เข้าร่วมประกวดราคาเป็นสัญญาจ้างเหมา ก็อาจต้องรับผิดชอบสร้างโครงการให้สำเร็จตามสัญญา เพราะเหตุว่าแบบก่อสร้างมีระบุไว้ครบ แต่ผู้รับเหมาคิดตกหล่นเอง นอกจากนี้ ในโครงการที่มีการจ้างที่ปรึกษางานก่อสร้าง เพื่อบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ที่ปรึกษาเองก็จำเป็นจะต้องใช้ BOQ ที่ตกลงแนบสัญญา ใช้เป็นหนึ่งในเอกสารอ้างอิงในการตรวจสอบงานด้วย

back
1,508 views
Share