Article
31.07.2024
อาคารเขียว..กับความห่วงใยต่อคนรุ่นหลัง
โดยทั่วไป อาคารเขียว หมายถึง อาคารที่มีการลดหรือกำจัดผลกระทบด้านลบ (Negative Impacts) และสามารถสร้างผลกระทบด้านบวก (Positive Impacts) ต่อสิ่งแวดล้อม ในตลอดช่วงวงจรชีวิตของอาคาร (Building Life Cycle) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านรอบๆ ที่อยู่อาศัยของเรา จะเป็นมิตรต่อกันได้ก็ต่อเมื่อเรามิได้สร้างปัญหาหรือความเดือดร้อนให้ อีกทั้งยังเกื้อกูล มีน้ำใจ และมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ในบางโอกาส จึงจะอยู่กันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น อาคารเขียว จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาคารที่มีความยั่งยืน (Sustainable Building) ซึ่งสิ่งแวดล้อมในที่นี้ หมายรวมถึงทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นสสารและพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงคนที่ใช้อาคารด้วย
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ในตลอดวงจรชีวิตของอาคารหนึ่ง จะสร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง เอ็มเคแอลขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพบางส่วน เช่น
- การเลือกที่ตั้งของโครงการในช่วงก่อนการก่อสร้าง หากมีการนำพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาพัฒนา ก็จะทำให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติถูกทำลาย
- การใช้คน เครื่องจักร และวัสดุ/อุปกรณ์ ในช่วงการก่อสร้าง ล้วนแต่ต้องการพลังงานในการจัดการ นอกจากจะทำให้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดลดลงแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษในด้านต่างๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสุขภาพของผู้คน เช่น น้ำเสีย ฝุ่นละออง เสียงรบกวน ขยะ กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ทำให้เจ้าของโครงการหรือนักพัฒนาอสังหาหลายรายหันมาใช้ระบบ Precast Concrete เพราะนอกจากจะลดค่าก่อสร้างและระยะเวลาโครงการลงแล้ว ยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ด้วย
- การใช้พลังงานต่างๆ ระหว่างการใช้งานอาคาร ในช่วงหลังการก่อสร้าง เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง ฯลฯ นอกจากพบว่ามักจะมีการใช้อย่างไม่ประหยัดเท่าที่ควรแล้ว ผลจากการใช้งานยังอาจก่อให้เกิดของเสียตามมา เช่น สารบางชนิดในระบบปรับอากาศก่อให้เกิดก๊าซที่นำไปสู่ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า เหตุใดรัฐจึงออกกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องยื่นขอ EIA ในการพัฒนาหรือก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่เข้าข่ายตามกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เจ้าของโครงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี มาตรการ EIA นั้นถือเป็นหนึ่งในมาตรการบังคับของรัฐ ที่ต้องการควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ในปัจจุบัน หลายองค์กรได้นำมาตรฐานอาคารเขียวมาประยุกต์ใช้โดยความสมัครใจ ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสงวนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านทั้งการพยายามขจัดหรือลดผลกระทบด้านลบ เช่น ใช้พลังงานอย่างประหยัด และการพยายามสร้างหรือขยายผลกระทบด้านบวก เช่น นำพื้นที่ซึ่งมีสภาพดินปนเปื้อนสารพิษมาแก้ไขและพัฒนา
ทั้งนี้ เนื่องจากองค์กรต่างๆ เล็งเห็นแล้วว่า การนำมาตรฐานอาคารเขียวมาใช้ช่วยสร้างรายได้ให้สูงขึ้นทางอ้อม ด้วยเหตุว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร สร้างความแตกต่างให้แก่ตราสินค้า (Brand) ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
มาตรฐานอาคารเขียวดังกล่าวมีการจัดทำขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น LEED ของสหรัฐอเมริกา BREEM ของอังกฤษ TREES ของไทย หากแต่ LEED ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ค่อนข้างนิยมใช้ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดย LEED ย่อมาจาก Leadership in Energy and Environmental Design เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดย USGBC (U.S. Green Building Council) มีหลักเบื้องต้นในการให้การรับรอง ดังนี้
- การรับรองแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามช่วงคะแนน ได้แก่ Certified, Silver, Gold และ Platinum ดังนั้น โครงการจะได้รับการรับรองระดับใด จึงขึ้นอยู่กับว่าคะแนนรวมที่ได้รับอยู่ในช่วงใด
- ระบบการประเมิน (Rating Systems) แบ่งออกตามประเภทของโครงการ เช่น สำหรับอาคารที่จะทำการก่อสร้างขึ้นใหม่หรือปรับปรุงใหญ่ สำหรับบ้านพักอาศัย ฯลฯ
- เกณฑ์ที่ใช้ในระบบการประเมิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เกณฑ์บังคับ (Prerequisite) ซึ่งไม่มีคะแนนให้ แต่ต้องผ่าน
และเกณฑ์ที่มีคะแนน (Credit) การประยุกต์ใช้มาตรฐานอาคารเขียว ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานใดก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมักเพิ่มต้นทุนของโครงการไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะต้นทุนค่าก่อสร้างงานระบบต่างๆ แต่ย่อมได้ประโยชน์ตามมาหลายประการ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน เอื้ออำนวยให้ผู้ใช้งานมีสุขภาพที่ดี เพิ่มรายได้ทางอ้อมดังที่กล่าวมา
โดยสรุป การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการประยุกต์ใช้มาตรฐานอาคารเขียวข้างต้น ถือเป็นการให้ความสำคัญในระดับองค์กร แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ในระดับบุคคลทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เช่น พยายามใช้น้ำ/ไฟอย่างประหยัด, ใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้, แนะนำเพื่อนให้ช่วยกันรณรงค์ป้องกัน, ใช้กระดาษเท่าที่จำเป็น (มีแหล่งข้อมูลระบุว่า ที่ผ่านมาเพื่อให้กระดาษเพียงพอต่อความต้องการต้องตัดต้นไม้ถึง 100 กว่าต้นต่อนาที และยังปล่อยคลอรีนที่ใช้ในการฟอกกระดาษเป็นของเสียอีกด้วย)
หากปราศจากความร่วมมือกันของคนในสังคม ซึ่งสามารถช่วยกันได้คนละไม้คนละมือ คนรุ่นหลังก็อาจประสบกับปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ปัจจุบันทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันได้