Article

16.06.2024

รับควบคุมงานก่อสร้าง ฉบับเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

Byที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

|  ระบบการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้าง

ในการบริหารองค์กรหรือบริหารโครงการใดๆ ก็ตาม หากองค์กรหรือโครงการนั้นมีระบบที่ดี ก็เปรียบเสมือนมีน้ำที่ใส หากมีระบบที่ไม่ดี ก็เปรียบเสมือนมีน้ำที่ขุ่นมัว มองลงไปก็ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจน กว่าจะค้นพบในสิ่งที่ต้องการ ก็ต้องเสียเวลาหรือเสียทรัพยากรไปมากมาย มีความผิดปกติเกิดขึ้นก็ไม่อาจตรวจวัดได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ องค์กรหรือโครงการที่มีระบบที่ดีจึงมักบรรลุ Vision และMission ที่ตั้งไว้ เนื่องจากช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย เนื่องจาก Waste ในด้านต่างๆ เช่น ลดระยะเวลา ลดการแก้ไขงาน ฯลฯ อีกทั้งหากเกิดความผิดปกติขึ้นก็จะแสดงอาการให้เห็น ทำให้สามารถจัดการได้ทันท่วงที

 

ในระบบการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอลก็เช่นกัน ทีมงานใช้หลักคิดที่ว่า ด้วยจำนวนแรงงานของผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีจำนวนมากกว่าของทีมควบคุมงานก่อสร้างหลายเท่าตัว อีกทั้งมีวัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้มากมายหลายชนิด ดังนั้น ทีมงานที่มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นของผู้รับเหมาเอง หรือคอนเซาท์ก่อสร้างจำนวนไม่กี่คน ย่อมไม่สามารถควบคุมหรือตรวจสอบงานก่อสร้างได้ทั่วถึงหากปราศจากระบบที่ดีรองรับ 

 

ถ้าจะถามว่า แล้วเอ็มเคแอลใช้ระบบอย่างไรในการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างข้างต้น คำตอบคือ ใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นมาจากหลักการที่หลายท่านคุ้นเคยกัน ได้แก่

  • มองทุกสิ่งสัมพันธ์กันเป็น Input-Process-Output
  • มองเห็นว่าการก่อสร้างโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะต้องบริหารจัดการ (Management) โดยนำเอาทรัพยากร 4M ได้แก่ Man, Material, Machine และ Method ไปผ่านกระบวนการก่อสร้าง (Construction Process) จนได้ Output ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้างออกมา

สรุปให้เห็นภาพดัง Construction System Diagram (developed by MKL Consultants) ต่อไปนี้

 

โมเดลเพื่อใช้รับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

โมเดล Construction System Diagram ที่ใช้ประกอบการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

 

Diagram ข้างต้นแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบใหญ่ และยังแบ่งออกเป็นองค์ประกอบย่อยได้อีก กล่าวคือ

  • Input ยังแยกออกเป็น Man (บุคลากร/แรงงาน), Material (วัสดุ/อุปกรณ์), Machine (เครื่องมือ/เครื่องจักร) และ Method (วิธีการทำงาน เปรียบได้กับ Work Instruction: WI)
  • Construction Process ยังแยกย่อยออกเป็นกิจกรรมต่างๆ หรืออาจแยกออกเป็นกระบวนการย่อยก่อน แล้วจึงแยกกระบวนการย่อยออกเป็นกิจกรรม
  • Output อาจแยกย่อยได้อย่างเช่น สิ่งก่อสร้างตามแม่แบบ, As-Built Drawings ฯลฯ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
  • Management ยังแยกย่อยออกเป็น Plan, Do, Study และ Act (PDSA) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อน Input, Process และ Output ให้เกิดมีขึ้นและผสมผสาน/เชื่อมโยงกันอย่างลงตัวจนบรรลุเป้าหมายในที่สุด

 

จาก Diagram ข้างต้น จึงเห็นได้ว่า ปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้างย่อมเกิดมาจากองค์ประกอบใน Diagram นี้ด้อยคุณภาพ หรือมิได้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน หรือมองอีกมุมหนึ่งก็คือ องค์ประกอบใน Input-Process-Output มีการ Plan, Do, Study, Act อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างไว้ผิดหรือไม่สอดคล้องกัน

 

ดังนั้น ระบบการให้บริการควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล จึงมุ่งเน้นจัดการทุกระดับของ Input-Process-Output ให้มีการ PDSA เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

 

|  ระบบเอกสารที่ใช้ในบริการรับควบคุมงานก่อสร้าง

และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกองค์ประกอบผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้ รวมถึงป้องกันการเข้าใจผิดจากการสื่อสารด้วยวาจา ตลอดจนให้ทุกฝ่ายสามารถอ้างอิงหรือพิสูจน์สาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง จึงจำเป็นต้องจัดทำระบบเอกสารขึ้นมารองรับ

 

ยกตัวอย่างเอกสารประเภทแบบฟอร์มพื้นฐานที่ใช้ในการควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล เช่น RFA (Request for Comment and Approval), RFI (Request for Information) ฯลฯ ถ้าหากมองในมุมมองของการควบคุม Input-Process-Output แล้ว จะเห็นได้ว่าแบบฟอร์มแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อควบคุม Input-Process-Output ให้มีการ PDSA ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ Scope, Quality, Time และ Cost ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น แบบฟอร์ม RFA เป็นเอกสารที่สร้างขึ้นมามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบต่างๆ ก่อนนำมาใช้งาน โดยคำนึงถึงว่าสามารถทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้หรือไม่ เช่น

  • Man คือ บุคลากร/แรงงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง ควบคุมให้มีความสามารถและมีจำนวนที่เพียงพอในการดำเนินโครงการ
  • Material คือ วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ ควบคุมให้มีคุณภาพและเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้
  • Method คือ วิธีการที่ใช้ในการก่อสร้าง ควบคุมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เช่น เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมที่กำหนด มีแบบสนาม (Shop Drawings) ที่ชัดเจน ฯลฯ

 

โดยในขั้นตอนการทำงาน ผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม RFA ดังกล่าว พร้อมทั้งแนบเอกสาร/สิ่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำส่งให้เอ็มเคแอลตรวจสอบและอนุมัติก่อนนำไปดำเนินการ เช่น ก่อนที่ผู้รับจ้างจะสั่งซื้อ Material มาใช้ในงานก่อสร้าง โดยทั่วไปจะต้องนำส่งเอกสารแสดงรายละเอียดของ Material ชนิดนั้นพร้อมตัวอย่างตามที่กำหนด มาให้เอ็มเคแอลตรวจสอบ โดยใช้แบบฟอร์ม RFA ประกอบการนำส่ง หากเอ็มเคแอลตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้และมีคุณภาพ ก็จะทำการอนุมัติให้ผู้รับจ้างนำไปดำเนินการสั่งซื้อต่อไป

 

อย่างไรก็ดี Material ที่ได้รับอนุมัติจากเอ็มเคแอลข้างต้น หลังจากที่ผู้รับจ้างสั่งซื้อและนำเข้ามาในหน่วยงานก่อสร้าง จะต้องขอให้เอ็มเคแอลตรวจสอบก่อนว่า Material ที่นำเข้ามาใช้งานนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติจาก RFA หรือไม่ โดยขอให้ทำการตรวจสอบผ่านแบบฟอร์ม Equipment / Material on Site Inspection

 

ต่อมา หากปรากฏว่า Material ที่ผ่านการตรวจสอบข้างต้น เมื่อนำมากองเก็บไว้ในหน่วยงานก่อสร้างเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น เหล็กเกิดสนิมขุม ฯลฯ จนเอ็มเคแอลเห็นว่ามีคุณสมบัติไม่เพียงพอในการนำมาใช้งาน ทีมงานก็จะต้องออกเอกสาร NCR โดยใช้แบบฟอร์มที่ชื่อว่า Nonconformance Report เพื่อห้ามใช้ Material นั้น หรือให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทำการแก้ไขก่อนนำมาใช้งาน นอกจากนี้ ผู้รับจ้างยังต้องเสนอมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ ตามที่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม NCR อีกด้วย

 

จากนั้น เมื่อผู้รับจ้างนำ Materials ต่างๆ มาดำเนินการตาม Process ก็จะต้องขอให้เอ็มเคแอลไปตรวจสอบงานเป็นลำดับขั้น ตามจุดตรวจสอบที่ระบุไว้ ว่าในแต่ละขั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องขอให้ทำการตรวจสอบ ผ่านแบบฟอร์ม Request for Inspection

 

ทั้งนี้ ทีมงานของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์ ทุกท่านจะถูกฝึกฝนให้เข้าใจเงื่อนไขสำคัญในการควบคุมงานก่อสร้าง 2 ประการ คือ

  • เมื่องานถูกปิด/กลบ/บดบังไปแล้ว ก็ไม่อาจตรวจสอบสิ่งที่อยู่ภายในได้ว่ามีการใช้ Materials ถูกต้องจริง มีคุณภาพ และ Method การดำเนินการเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น เมื่อเทคอนกรีตแล้ว ย่อมไม่เห็นเหล็กที่อยู่ภายใน หรือเมื่อฉาบปูนที่ผนังแล้วย่อมไม่เห็นท่อที่เดินอยู่ภายใน หรือเมื่อปิดฝ้าเพดานแล้วย่อมไม่เห็นงานระบบที่เดินใต้ท้องพื้น ฯลฯ ดังนั้น ในการควบคุมงานก่อสร้าง จะตรวจสอบงานแต่เพียงตอนที่แล้วเสร็จไม่ได้

 

การควบคุมงานก่อสร้างคานคอนกรีตเสริมเหล็กในการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

หลังจากเทคอนกรีตแล้ว ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเหล็กที่อยู่ภายในมีขนาดถูกต้องตามแบบ/มีการวางตำแหน่งถูกต้อง/เปื้อนน้ำมัน/มีสนิมขุมหรือไม่

 

  • แม้ว่าในขั้นตอนการควบคุมงานก่อสร้าง จะได้ตรวจสอบก่อนการปิด/กลบ/บดบังแล้วก็ตาม แต่ถ้างานได้ดำเนินการไปแล้วหลายขั้น เมื่อพบว่าขั้นแรกมีข้อบกพร่อง ก็จะต้องเสียเวลารื้อถอนขั้นอื่นๆ ที่ทำไปแล้วด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการกระทบเป้าหมายของโครงการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดจุดตรวจสอบแยกออกเป็นขั้นๆ

 

กรณีการใช้งาน Machine ก็เช่นกัน ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องจักรตามที่เอ็มเคแอลกำหนด โดยอาจแนบมากับแบบฟอร์ม Equipment / Material on Site Inspection

 

ใบรับรองความปลอดภัยของเครื่องจักรที่ต้องใช้ในการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์

ข้อความที่ระบุในใบรับรองฯ เครื่องจักร

 

เท่าที่นำแบบฟอร์มบางชนิดมาแสดงข้างต้น เอ็มเคแอลต้องการชี้ให้เห็นว่า แบบฟอร์มทั้งหมดที่กำหนดขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์ของแต่ละแบบฟอร์ม และมีการเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการควบคุม Input-Process-Output ให้มีการ PDSA เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นได้ว่า ระบบที่ดีในการควบคุมงานก่อสร้างให้บรรลุเป้าหมาย จะต้องเป็นระบบที่มีกระบวนการเชิงป้องกันปัญหา (Preventive Action) เป็นหลัก ซึ่งจากข้อความที่เอ็มเคแอลเน้นวรรคสุดท้ายนี้เอง เป็นที่มาว่า คุณสมบัติหนึ่งของผู้มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นของผู้รับเหมาเอง หรือของบริษัทที่ปรึกษารับควบคุมงานก่อสร้างเอง จะต้องมีพฤติกรรมเชิงรุก (Proactive) กล่าวคือ จะต้องคอยตรวจ คอยติ คอยเตือน คอยตาม เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าหากจะมีปัญหาที่ต้องมาทำการ แก้ไข (Corrective) ก็ควรเกิดมาจากเหตุสุดวิสัยเท่านั้น

 

โดยสรุปแล้ว ระบบการให้บริการรับควบคุมงานก่อสร้างของเอ็มเคแอล คอนซัลแตนส์ หรือบริษัทที่ปรึกษาอื่นใดก็ตาม ย่อมหลีกไม่พ้นการใช้หลักพื้นฐานดังที่กล่าวมา คือการจัดการ input-process-output อย่างเป็นระบบ และเอ็มเคแอลย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรถ่ายทอดให้ทีมงานที่ควบคุมงานก่อสร้างเข้าใจหลักการเหล่านี้ มิเช่นนั้นแล้ว การปฏิบัติงานก็จะเป็นไปโดยขาดประสิทธิภาพ  

back
734 views
Share