Article

16.11.2023

กิจกรรมในการก่อสร้างช่วงใดมีความสำคัญมากที่สุด

Byสรกฤตย์ พันธุมนตรี

โดยทั่วไป ขั้นตอนการก่อสร้างหรือพัฒนาโครงการ มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ (Inception Stage) ไปจนสิ้นสุดโครงการ (Project Closed Out) ผู้พัฒนาจำเป็นที่จะต้องทราบว่า โครงการที่ตนเองจะพัฒนานั้น มีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อนำไปวางแผนการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป

 

ทั้งนี้ กิจกรรมในการพัฒนาโครงการแต่ละประเภท อาจแตกต่างกันไปตามเป้าหมาย ข้อกฎหมายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และกลยุทธ์เจ้าของโครงการแต่ละราย แต่หากจะจัดหมวดหมู่ของกิจกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามช่วงเวลาของโครงการ ได้แก่

          • ช่วงก่อนงานก่อสร้าง (Pre-Construction Phase) เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ออกแบบโครงการ สรรหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ขออนุญาตก่อสร้าง ฯลฯ
          • ช่วงระหว่างงานก่อสร้าง (Construction Phase) เช่น ลงเสาเข็ม ผูกเหล็ก เทคอนกรีต ฯลฯ
          • ช่วงหลังงานก่อสร้าง (Post-Construction Phase) เช่น ส่งมอบแบบก่อสร้างจริง (As-Built Drawings) ทดสอบและทดลองระบบต่าง ๆ ว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ ซ่อมแซมแก้ไข Defects ในช่วงรับประกันผลงาน ฯลฯ

 

ขอให้สังเกตว่า กลุ่มกิจกรรมทั้ง 3 ช่วงนี้ เริ่มต้นจากกิจกรรมในช่วงก่อนงานก่อสร้าง ซึ่งมีความเป็นนามธรรมมากที่สุด (Intangible) ลำดับไปจนถึงกลุ่มกิจกรรมในช่วงหลังงานก่อสร้าง มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด (Tangible) ดั้งนั้นแล้ว กลุ่มกิจกรรมในช่วงก่อนงานก่อสร้างจึงมีความสำคัญมาก เพราะการดำเนินกิจกรรมในช่วงนี้ เปรียบเสมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก หากกลัดผิดแล้ว กิจกรรมที่ต่อเนื่องมา ก็จะผิดต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ เช่น ในขั้นตอนการออกแบบ หากมีการคำนวณโครงสร้างผิดพลาด สิ่งก่อสร้างที่ผู้รับจ้างก่อสร้างส่งมอบ อาจเกิดปัญหาการพังทลายในอนาคตได้

 

แล้วเหตุใดในการก่อสร้าง จึงมักจะผิดพลาดที่กิจกรรมในช่วงนี้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่ากิจกรรมในช่วงนี้มีลักษณะค่อนข้างเป็นนามธรรมนั่นเอง กล่าวคือ ยังไม่ปรากฏให้เห็นสิ่งที่ต้องการหรือเป้าหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่ต้องการยังแฝงเร้นอยู่ (Latent) ไม่ปรากฏชัด (Patent) เมื่อยังมองไม่เห็นยังจับต้องไม่ได้ คนทั่วไปจึงประมาท ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการไป ตนเองจะมาร่วมก็เมื่อเริ่มก่อสร้างหรือเริ่มจะเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งหากเกิดปัญหา ก็อาจสายเกินแก้

 

เช่นเดียวกับสิ่งที่มองเห็นทั่วไป ย่อมเริ่มต้นมาจากความคิด ที่เป็นนามธรรม หากหลักคิดผิด สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ย่อมผิดตามไปด้วยนั่นเอง ฉะนั้นแล้ว จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมในช่วงก่อนงานก่อสร้าง เช่น ตรวจแบบก่อสร้างให้รอบคอบ จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างให้มีศักยภาพ ร่างสัญญาจ้างก่อสร้างให้รัดกุม ฯลฯ ดังนี้แล้ว จึงเข้าหลักการบริหารที่ดี คือพยาม Preventive มากกว่า Corrective หากจะต้องมีการ Corrective ขอให้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

back
254 views
Share